คลินิกผู้ป่วยโรคระบบทางกระดูกและกล้ามเนื้อ

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus pulposus)

สาเหตุ

เกิดขึ้นเมื่อหมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อมทำให้ความยืดหยุ่นลดน้อยลงเรื่อย ๆ และหากเปลือกนอกมีการฉีกขาด เนื้อเยื่อของหมอนที่อยู่ข้างในก็จะสามารถเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่รอบข้าง และทำให้เกิดอาการต่าง ๆตามมาได้

ปัจจัยเสี่ยง

  1. มีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะส่งผลให้ หลังต้องรับน้ำหนักที่มาก ทำให้หลังแอ่นและกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักตลอดเวลา หมอนรองกระดูกจึงมีโอกาสเสื่อมหรือแตก ปลิ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีรูปร่างผอม

  2. อุบัติเหตุ-การแบกของหนัก อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูกนั้นมีอยู่บ้าง อย่างเช่น รถเบรก กะทันหัน เล่นกีฬาบิดแรงจนหมอนรองกระดูกฉีกทันทีก็มีอยู่บ้างแต่เกิดขึ้นน้อย อุบัติเหตุจากการแบกของหนักที่ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขา กระดูกจึงบิดและเคลื่อนได้

  3. การใช้งานผิดท่า เช่น นั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน การนั่งหลังไม่พิงพนัก หลังงอ ก้มคอ ทำงานเป็นเวลานาน ใช้ร่างกายหนัก พักผ่อนน้อย บุคคลที่นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ

อาการ

อาการปวดหลัง  สะโพกและปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างรุนแรง  อาการปวดมากขึ้นเวลาไอ หรือจาม และมักเกิดร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อ  อาการชาบริเวณปลายเท้า  ตามการกระจายของรากประสาทที่ถูกกดทับ

การรักษา

  1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เช่น การรักษาทางกายภาพบำบัด โดยการลดอาการปวดโดยการใช้เครื่องเช่น อัลตราซาวน์ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ประคบร้อน เป็นต้น หรือการรักษาเพื่อให้หมอนรองกระดูกสันหลังกลับเข้าที่เดิม โดยใช้เครื่อง เช่น การใช้เครื่องดึงหลัง (Mechanical traction)
  1. การรักษาโดยการผ่าตัด ทำการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่รุนแรง

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

สาเหตุ

เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อในท่าทางซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยไม่ขยับ ผ่อนคลาย ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง

อาการ

  • ปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง
  • อาการชา หากถูกกดทับเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรงร่วมด้วย

การรักษา

  1. การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด
  2. การรักษาอื่นๆ เช่น การใช้ยาลดอาการปวด การจัดสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานใหม่ การปรับเปลี่ยนท่านั่ง ท่าทางในการทำงาน ให้ถูกต้อง

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ปวดขา ปวดเข่า ปวดส้นเท้า เอ็นหัวเข่าฉีก

สาเหตุ

  • แรงกระทบภายนอก เช่น แรงปะทะของนักคู่แข่ง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเกิดการฟกช้ำ ทำให้หลอดเลือดฝอยต่างๆ ฉีกขาด
    มีเลือดออกมาในชั้นกล้ามเนื้อ หรือหากกระแทกรุนแรงก็อาจมีการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ มีเลือดออกมากขึ้น จึงเกิดอาการบวมภายใน 48-72 ชั่วโมงแรก
  • บาดเจ็บจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ เกิดจากการหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด จนอาจทำให้เกิดมีหลอดเลือดฝอย
    บริเวณใยกล้ามเนื้อมีการฉีกขาด ต้นเหตุอาจมาจากการใช้งานมากเกินไป

อาการ

ปวด บวม แดง ร้อน ในระยะแรกๆ ปวดเรื้อรัง เป็นๆหายๆ

การรักษา

  1. การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด และอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หลังการได้รับการบาดเจ็บ , การออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่ถูกต้องให้เหมาะสมตามบุคคลและประเภทของกีฬา
  2. การรักษาอื่นๆ เช่น การผ่าตัด การใช้ยาต่างๆ เป็นต้น

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome)

สาเหตุ

  1. กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างกะทันหันหรือกล้ามเนื้อเกิดความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดจุดกดเจ็บได้ เช่น จุดภายในกล้ามเนื้อหรือบริเวณใกล้กันกับกล้ามเนื้อที่ตึงอาจกลายเป็นจุดกดเจ็บ การเคลื่อนไหวแบบซ้ำ ๆ และการจัดท่าทางร่างกายที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
  1. ความเครียดและความวิตกกังวล ผู้ที่มีความเครียดและความวิตกกังวลบ่อย ๆ อาจเสี่ยงเกิดจุดกดเจ็บได้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีการเกร็งกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ จนเกิดจุดกดเจ็บ

อาการ

ปวดกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีจุดกดเจ็บ อาจปวดร้าวตามกล้ามเนื้อได้
อาจมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่างหรือเกิดความเครียด กล้ามเนื้อจับตัวเป็นก้อนแน่น

การรักษา

  1. การรักษาทางกายภาพบำบัด โดยการยืดกล้ามเนื้อ การฝึกวางท่าทางร่างกายอย่างเหมาะสม การปรับปรุงท่าทางต่าง ๆการออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ จุดกดเจ็บแข็งแรงขึ้น และช่วยลดการทำงานกล้ามเนื้อไม่ให้ทำงานหนักจนเกินไป การประคบร้อน การนวด เป็นต้น
  1. การหลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดอาการปวด เพื่อพักการใช้งานกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าวไประยะหนึ่ง
  2. วิธีอื่นๆ เช่น การใช้เข็มเจาะลงไปที่จุดกดเจ็บ เพื่อคลายความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือการฝังเข็มที่จุดกดเจ็บหรือบริเวณรอบ ๆ หลาย ๆ จุด