โปรแกรมฟื้นฟูหลังการผ่าตัด เช่น เปลี่ยนข้อสะโพก ข้อเข่า กระดูกสันหลัง

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือการผ่าตัดเพื่อนำส่วนของข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ, กระดูกตายหรือแตกหักออก และทดแทนข้อใหม่ด้วยข้อสะโพกเทียม (Prosthesis) เพื่อให้มีการเคลื่อนไหว คล้ายคลึงการเคลื่อนไหวของข้อจริงมากที่สุด

ลักษณะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดด้านหลัง (posterior approach) พบประมาณ 60% เนื่องจากผ่าตัดได้ง่าย สามารถผ่าด้วยเทคนิคขนาดแผลปกติหรือแผลเล็กก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีการตัดกล้ามเนื้อบางส่วน และจำเป็นต้องระวังไม่ให้เกิดอันตรายกับเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สำคัญซึ่งอยู่ด้านหลังข้อสะโพก

การผ่าตัดด้านข้าง (anterolateral approach) พบประมาณ 30% มีข้อดีที่สามารถวางตำแหน่งเบ้าได้ง่ายและแม่นยำกว่า ช่วยลดความเสี่ยงที่ข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด มีการชอกช้ำของกล้ามเนื้อน้อยกว่าแบบด้านหลัง สามารถผ่าด้วยเทคนิคขนาดแผลปกติหรือแผลเล็กก็ได้เช่นกัน และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับเส้นเลือดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังข้อสะโพก

การผ่าตัดด้านหน้า (direct anterior approach ) เทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเข้าทางด้านหน้า ได้รับความนิยม  เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บน้อยขณะผ่าตัด ผ่าตัดมีความเจ็บปวด อุบัติการณ์ของสะโพกข้อเทียมเคลื่อนหลุดหลังผ่าตัดค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นๆ ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ในวันเดียวกันหลังผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-3 วัน

การฟื้นฟูหลังผ่าตัด

เน้นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณขา และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเดินลงน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่ตามมา และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้

ข้อควรระวัง

  1. อย่านั่งไขว้ห้าง หรือวางเท้าข้างที่ผ่านการผ่าตัดข้ามแนวกลางลำตัว ควรนั่งให้เท้าทั้ง 2 ข้างวางอยู่บนพื้น โดยให้หัวเข่าทั้ง 2 ข้างห่างกันเล็กน้อย
  2. อย่าหมุนเท้าเข้าด้านใน ควรหมุนเท้าและลำตัวไปพร้อมกัน
  3. อย่าก้มตัวเก็บของที่อยู่บนพื้น ควรใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามยาวช่วย หรือให้ผู้อื่นหยิบให้ (ไม่ก้มตัวหรืองอสะโพกเกิน 90 องศา)
  4. อย่ากางขาเกิน 45 องศา

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ผู้ป่วยที่ต้องรับการเปลี่ยนเข่า

  1. ปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง

  2. ปวดเข่าเวลาพัก เช่น ปวดเวลานอน

  3. มีการอักเสบบวมแดงของเข่า โดยมีอาการบ่อยและเรื้อรัง

  4. มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน

  5. ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก

  6. ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการใช้งาน ยาทาน หรือการฉีดยาเข้าในเข่าไม่ได้ผล

ชนิดของการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

  1. ชนิดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement) ตัดผิวข้อทั้งส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยมีแผ่นพลาสติกกั้น
  2. ชนิดเปลี่ยนเพียงด้านเดียวของผิวข้อ (Unicompartmental Knee Replacement) โดยเปลี่ยนผิวทั้งด้านต้นขาและกระดูกหน้าแข้งเฉพาะด้านที่มีอาการเสื่อม ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ แผลเล็ก การตัดกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆ น้อย ผลทำให้การเจ็บปวดน้อยลง และกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปกติเร็วขึ้น

การฟื้นฟูหลังผ่าตัด

เน้นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณขา และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเดินลงน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่ตามมา และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้