การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือการผ่าตัดเพื่อนำส่วนของข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ, กระดูกตายหรือแตกหักออก และทดแทนข้อใหม่ด้วยข้อสะโพกเทียม (Prosthesis) เพื่อให้มีการเคลื่อนไหว คล้ายคลึงการเคลื่อนไหวของข้อจริงมากที่สุด
ลักษณะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดด้านหลัง (posterior approach) พบประมาณ 60% เนื่องจากผ่าตัดได้ง่าย สามารถผ่าด้วยเทคนิคขนาดแผลปกติหรือแผลเล็กก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีการตัดกล้ามเนื้อบางส่วน และจำเป็นต้องระวังไม่ให้เกิดอันตรายกับเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สำคัญซึ่งอยู่ด้านหลังข้อสะโพก
การผ่าตัดด้านข้าง (anterolateral approach) พบประมาณ 30% มีข้อดีที่สามารถวางตำแหน่งเบ้าได้ง่ายและแม่นยำกว่า ช่วยลดความเสี่ยงที่ข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด มีการชอกช้ำของกล้ามเนื้อน้อยกว่าแบบด้านหลัง สามารถผ่าด้วยเทคนิคขนาดแผลปกติหรือแผลเล็กก็ได้เช่นกัน และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับเส้นเลือดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังข้อสะโพก
การผ่าตัดด้านหน้า (direct anterior approach ) เทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเข้าทางด้านหน้า ได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บน้อยขณะผ่าตัด ผ่าตัดมีความเจ็บปวด อุบัติการณ์ของสะโพกข้อเทียมเคลื่อนหลุดหลังผ่าตัดค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นๆ ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ในวันเดียวกันหลังผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-3 วัน
การฟื้นฟูหลังผ่าตัด
เน้นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณขา และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเดินลงน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่ตามมา และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้
ข้อควรระวัง
- อย่านั่งไขว้ห้าง หรือวางเท้าข้างที่ผ่านการผ่าตัดข้ามแนวกลางลำตัว ควรนั่งให้เท้าทั้ง 2 ข้างวางอยู่บนพื้น โดยให้หัวเข่าทั้ง 2 ข้างห่างกันเล็กน้อย
- อย่าหมุนเท้าเข้าด้านใน ควรหมุนเท้าและลำตัวไปพร้อมกัน
- อย่าก้มตัวเก็บของที่อยู่บนพื้น ควรใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามยาวช่วย หรือให้ผู้อื่นหยิบให้ (ไม่ก้มตัวหรืองอสะโพกเกิน 90 องศา)
- อย่ากางขาเกิน 45 องศา
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ผู้ป่วยที่ต้องรับการเปลี่ยนเข่า
-
ปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง
-
ปวดเข่าเวลาพัก เช่น ปวดเวลานอน
-
มีการอักเสบบวมแดงของเข่า โดยมีอาการบ่อยและเรื้อรัง
-
มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน
-
ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก
-
ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการใช้งาน ยาทาน หรือการฉีดยาเข้าในเข่าไม่ได้ผล
ชนิดของการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
- ชนิดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement) ตัดผิวข้อทั้งส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยมีแผ่นพลาสติกกั้น
- ชนิดเปลี่ยนเพียงด้านเดียวของผิวข้อ (Unicompartmental Knee Replacement) โดยเปลี่ยนผิวทั้งด้านต้นขาและกระดูกหน้าแข้งเฉพาะด้านที่มีอาการเสื่อม ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ แผลเล็ก การตัดกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆ น้อย ผลทำให้การเจ็บปวดน้อยลง และกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปกติเร็วขึ้น
การฟื้นฟูหลังผ่าตัด
เน้นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณขา และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเดินลงน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่ตามมา และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้