‘ปวดมือ’ ชามือ ตอนพิมพ์งานนาน ๆ อาการยอดฮิตของคนทำงานด้านเอกสาร จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันไม่สามารถใช้มือในการจับช้อน แก้วน้ำ ในการทานข้าวได้ หยิบจับอะไรหลุดมือ หรือเขียนหนังสือไม่ได้ จนอาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้วอาการปวดข้อมือ ชามือ จะมีวิธีการดูแลอย่างไร ตามไปอ่านกันเลย
โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ หรือที่เรียกว่า “Carpal tunnel syndrome” เป็นโรคที่โครงสร้างพังผืดบริเวณข้อมือเกิดอาการอักเสบและไปกดทับเส้นประสาทมีเดียนที่ข้อมือ จนทำให้เกิดอาการมือชา และ ‘ปวดข้อมือ’ ส่งผลให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การหยิบจับสิ่งของ การทำงานบ้าน หรือการทำงานที่ต้องใช้เมาส์และแป้นพิมพ์ได้นั่นเอง
การพักการใช้งาน หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องใช้งานข้อมือ ยิ่งเฉพาะช่วงระยะอักเสบของข้อมือ ควรจะหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือ ไม่ยกของหนัก และหากต้องใช้เมาส์และแป้นพิมพ์ก็ควรกำหนกเวลาในการใช้ และพักให้บ่อยขึ้น เพื่อลดอาการอักเสบของข้อมือที่เกิดขึ้น
การประคบร้อน เพื่อจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อมือคลายตัวและอาการปวดข้อมือได้ดีขึ้นด้วย โดยจะประคบประมาณ 15 นาที โดยอาจจะใช้แผ่นประคบร้อนไฟฟ้า หรือผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นในการประคบไปที่บริเวณมือก็ได้ ถ้าใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นควรทำซ้ำประมาณ 2-3 รอบ
การยืดกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เพื่อจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่มีความตึงตัวเกิดความยืดหยุ่นได้ดีขึ้นและเส้นประสาทที่มีความตึงตัวก็จะลดลงได้ ทำให้อาการชาลดลงได้อีกด้วย โดยท่ายืดกล้ามเนื้อที่แนะนำคือ การยืดกล้ามเนื้อกลุ่มงอข้อมือและงอศอก และเส้นประสาทมีเดียน โดยการเหยียดแขนและมือไปด้านหน้า แล้วนำมืออีกข้างจับตรงปลายมือแล้วดึงเข้าหาลำตัว ค้างไว้ประมาณ 15 วินาที 3-5/เซต 3 เซต/วัน
การออกกำลังกาย โดยจะเน้นการออกกำลังกายที่กล้ามเนื้อฝ่ามือเพื่อเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อฝ่ามือ โดยท่าที่แนะนำคือการกำมือกับลูกบอลนิ่ม ๆ เพื่อออกแรงกล้ามเนื้อมือ ทำประมาณ 10 ครั้ง/เซต 5 เซต/วัน หรือออกเพิ่มได้เท่าที่ไหว
การปรับอุปกรณ์ในการทำงาน โดยการปรับอุปกรณ์จะแนะนำสำหรับคนที่ต้องทำงานโดยใช้เมาส์ หรือแป้นพิมพ์ ควรที่จะหาอะไรมารองข้อมือเพื่อไม่ให้เกิดการกดทับที่บริเวณข้อมือและแขนขณะทำงาน และทำให้ข้อมือและแขนผ่อนคลายมากขึ้นขณะใช้งานอีกด้วย
หากลองทำตาม 5 ขั้นตอนนี้กันไปแล้ว อาการ ‘ปวดมือ’ ยังไม่ทุเลาลง มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น หรือคงเดิม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ควรรีบมาตรวจเพิ่มเติมกับนักกายภาพบบำบัดเพื่อเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้นนะคะ