สูงวัย กับ ‘ไม้เท้า’ ช่วยเดิน

ไม้เท้า กับผู้สูงอายุเป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อเราแก่ตัวลงการเดิน การทรงตัว ก็ค่อย ๆ แย่ลงตามไปด้วย การมีอุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายก็ถือว่าเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้เลย เพราะตัวช่วยอย่างไม้เท้าก็จะช่วยซัพพอร์ตร่างกายตอนยืน เดิน และทรงตัวให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งได้ แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าไม้เท้าแบบไหนใช้อย่างไร และเหมาะสมกับใคร วันนี้ กนก คลินิกกายภาพบำบัด ขอมาแนะนำการเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเดินให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่บ้านของคุณกัน

มาดูกันที่อุปกรณ์ตัวแรกกันเลยดีกว่า ชื่อว่า Walker หรือ โครงช่วยเดิน เป็นอุปกรณ์ที่เรียกได้ว่าถ้าบ้านใครมีผู้สูงอายุ ต้องมีเจ้าตัวนี้ติดบ้านไว้เลย เพราะจะช่วยทำให้การเดินของผู้สูงอายุมั่นคงขึ้น เสี่ยงล้มได้น้อยลง แต่อาจจะไม่สะดวกต่อการใช้งานข้างนอกและพื้นที่แคบเท่าไหร่

โครงช่วยเดิน มี 2 ประเภทด้วยกัน

  1. Standard walker – ขา 4 ขาไม่มีล้อ
  2. Wheels walker – มี 2 ล้อ และ 2 ขา

ข้อดี – มีความมั่นคงที่ดี ทำให้เมื่อใช้งานมีความมั่นใจในการเคลื่อนย้ายตัวไม่ว่าจะในท่ายืน หรือเดิน

ข้อเสีย – ไม่สะดวกในการใช้ในที่แคบ จัดเก็บลำบาก และไม่สะดวกต่อการพกพาไปข้างนอก

เหมาะกับ : ผู้สูงอายุทั่วไปที่ต้องการเพิ่มความมั่นคง ขณะก้าวเดิน / ใช้หลังผ่าตัด เพื่อฝึกเดิน

ไม้เท้า Kanok

วิธีการใช้งาน :

  • ยืน – วาง walker ชิดเตียง จากนั้นใช้มือ 2 ข้างจับบนที่จับ / ออกแรงกดที่มือ 2 ข้าง และลุกขึ้นยืน
  • เดิน – ยก walker ไปข้างหน้า ในระยะที่ขาสามารถก้าวถึง ก้าวขา 1 ข้างและตามด้วยขาอีกข้าง ห้ามก้าวขาเลยบาร์ที่ขวางทางด้านหน้า เพราะจะทำให้ล้มมาด้านหลังได้ง่าย เนื่องจากพื้นที่รับน้ำหนักไม่เพียงพอ
ไม้เท้า Kanok

มาต่อกันที่ ‘ไม้เท้า’ หรือ Cane อุปกรณ์ช่วยเดินนี้ก็จะมีหลากหลายรูปแบบแบ่งตามความมั่นคงของฐานรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หากยิ่งมีฐานรองเยอะก็จะเพิ่มความมั่นคงในการเดินได้มากขึ้นนั่นเอง

ไม้เท้าช่วยเดิน มี 3 ประเภทด้วยกัน

  1. One-point cane – มีจุดรับน้ำหนัก 1 จุด
  2. Three-point cane – มีจุดรับน้ำหนัก 3 จุด
  3. Four-point cane – มีจุดรับน้ำหนัก 4 จุด **จุดรับน้ำหนักที่มากขึ้น จะเพิ่มความมั่นคงได้มากขึ้น

ข้อดี – เคลื่อนย้ายสะดวก จัดเก็บง่าย สามารถนำไปใช้นอกสถานที่ได้

ข้อเสีย – ฐานรับน้ำหนักน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการล้มได้ง่ายหากใช้ไม่ถูกวิธี

เหมาะกับ : ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก  / ผู้สูงอายุที่สามารถทรงตัวได้ดีขณะเดิน แต่ต้องการใช้เพื่อเพิ่มความมั่นคง

ไม้เท้า Kanok

วิธีการใช้งาน :

  • การปรับขนาด – ไม้เท้าควรอยู่ระดับเดียวกับปุ่มกระดูกบริเวณสะโพก ขณะยืนจับข้อศอกงอประมาณ 20-30 องศา ใช้มือด้านที่แข็งแรงกว่าจับขณะใช้งาน
  • เดิน – ยกไม้เท้าไปข้างหน้าประมาณ 1 ก้าว จากนั้นยกขาฝั่งตรงข้ามกับด้านที่ถือไม้เท้าตาม  จากนั้นตามด้วยขาด้านที่ถือไม้เท้า ห้ามก้าวขาเลยไม้เท้า เพราะจะทำให้ล้มได้ง่าย

หากบ้านใครที่กำลังมองหาอุปกรณ์ช่วยเดินสำหรับผู้สูงอายุอยู่ ก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้ตัดสินใจในการเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเดินได้อย่างถูกวิธี และสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง แต่หากว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งาน หรือไม่แน่ใจว่าผู้สูงอายุที่บ้านของท่านจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหรือไม่ ก็อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการล้มในอนาคตได้ ควรมาปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่เหมาะสมต่อการใช้งานให้มากยิ่งขึ้นนะครับ