‘ทำงาน ปวดหลัง’ แก้ด้วย 7 ท่านั่งสุขภาพดี

‘ทำงาน ปวดหลัง’ อาการที่มนุษย์ทำงานหนีไม่พ้น เมื่อนั่งทำงานก็ต้องวนมาเจอกับอาการปวดหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนไปไม่มีจุดจบ นานเข้าก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือในการทำงาน ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะต้องคอยพะวงกับอาการปวดหลังที่เกิดขึ้น บางครั้งก็มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ตามมาอีก แต่ใครจะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากท่านั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง เมื่อนั่งผิดท่าไปนาน ๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดคอ บ่า หลัง และอาจนำไปสู่อาการที่ร้ายแรงขึ้นได้อย่างเช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือมือชา ได้นั่นเอง แล้วการนั่งที่ดีต่อสุขภาพต้องจัดท่าอย่างไร วันนี้ กนก คลินิกกายภาพบำบัด มี 7 ท่านั่งทำงาน ที่จะช่วยลดและบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นมาฝากกัน จะมีท่าอะไรบ้างไปตามอ่านกันเลย

  • ศีรษะ

ศีรษะตั้งตรง ไม่ก้มหรือเงยเกินไป ปรับให้จอคอมอยู่ระดับสายตาที่มุมประมาณ 15 องศา เท่านี้ก็ทำให้ระดับศีรษะและการมองของเราดีขึ้น กล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ ทำงานได้น้อยลง

  • ไหล่

ไหล่ต้องไม่ยกขึ้น ที่โต๊ะควรมีพื้นที่สำหรับการวางแขน หรืออาจจะหาหมอนมาวางแขน เพื่อรองรับแขน และไหล่ ให้สบายมากขึ้นขณะนั่งทำงาน

  • ข้อมือ และแขน

ควรวางให้อยู่ในระนาบเดียวกับแป้นพิมพ์ และเม้าส์ หรือต่ำกว่าเล็กน้อยได้ เพราะปกติมุมของข้อศอก เราควรอยู่ในมุมเปิด 100- 110 องศา และอาจจะหาหมอนมารองรับบริเวณแขนในกรณีที่ที่วางแขนไม่สารารถซัพพอร์ตได้

  • หลัง

ควรนั่งให้หลังชิดกับพนักพิงให้มากที่สุด เพื่อลดภาวะหลังค่อม ไหล่ห่อ ที่อาจเกิดขึ้นขณะนั่งทำงาน และการที่หลังได้รับการซัพพอร์ตยังเป็นการลดการกดทับของหมอนรองกระดูกสันหลังขณะนั่งทำงานได้อีกด้วย

  • ก้น

เวลานั่งต้องนั่งให้เต็มก้น ไม่ควรนั่งครึ่งก้น เพราะจะทำให้เกิดการลงน้ำหนักที่กระดูกสันหลังมากกว่าปกติ เป็นสาเหตุของอาการปวดหลังได้

  • เข่า และสะโพก

เวลานั่งสะโพกและเข่าควรทำมุมประมาณ 90-120 องศา และควรให้ข้อพับเข่าเว้นจากเก้าอี้ประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับที่ใต้ข้อพับ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดขา ขาชา หรือตะคริวที่ขาได้

  • เท้า

ตำแหน่งของเท้าควรวางให้ราบกับพื้น ไม่ควรยกลอย เพราะหากปล่อยให้เท้าลอยจะเป็นการกดทับบริเวณใต้ข้อพับเข่าได้

เมื่อเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่รอไม่ได้อย่าปล่อยให้วลี ‘ทำงาน ปวดหลัง’ ต้องคอยหลอกหลอนการทำงานของเราอีกต่อไป ลองปรับเปลี่ยนท่าทางในการนั่งทำงานให้ถูกต้อง และสิ่งสำคัญเลยเมื่อนั่งถูกท่าแล้วแต่จะให้นั่งไปตลอดหลายชั่วโมงก็คงไม่ดีเช่นกัน ต้องพยายามหมั่นลุกออกจากที่นั่งบ่อย ๆ ให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย และควรหมั่นยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นจะได้ช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นต่อกล้ามเนื้อได้นั่นเอง และถ้าหากลองทำตามกันแล้วยังมีอาการปวดตามมาอยู่ก็สามารถทักมาขอคำปรึกษาหรือเข้ามาตรวจประเมินร่างกายกับนักกายภาพบำบัดเพื่อรักษาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้นนะคะ